♥ คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

อภัยจริงหรือไม่ ให้สังเกตตอนจิตถูกกระทบแล้วยัง

หวั่นไหวอยู่หรือไม่ หากจิตเกาะไม่ปล่อยวาง นั่นแหละคือการอภัยไม่จริง ถ้าจิตปล่อยวางไม่เอาเรื่องเหล่านี้ มาคิด มาจำ หรือปรุงแต่ง ตรงนั่นแหละคืออภัยทานที่แท้จริ

 

~<*>~หลวงพ่อพระราชพรหมยาน~<*>~

~*~ อารมณ์ของใจ ~*~

ต่อนี้ไปเป็นโอกาสแห่งการเจริญพระกรรมฐาน วันก่อนๆ ได้พูดถึงเรื่องฌานจบลงไปแล้ว แต่ก็อย่างย่อๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตือนให้เข้าใจชัด หากว่าผู้ใดไม่เข้าใจก็ไปอ่านในคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน เพราะในที่นั้นเขียนไว้ครบถ้วนบริบูรณ์ แต่ที่นำมาพูดก็เพื่อเป็นการเตือนใจ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเห็นว่าการเจริญกรรมฐานของพวกเราบกพร่องอยู่ ไอ้คำว่าบกพร่องนี่ก็หมายความว่า บกพร่องในการตั้งอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตามเวลานี่ไม่ค่อยจะขาด นี่ก็ถือว่าดีไปอย่างหนึ่ง คือว่าการปฏิบัติตามเวลานี่จะถือว่าดีทีเดียวยังใช้ไม่ได้ เพราะความดีของอารมณ์ต้องทรงตลอดวัน ไม่ใช่จะมาทรงแต่เฉพาะเวลาที่เรามานั่งกันอย่างเวลานี้ ในประการหนึ่ง สำหรับอารมณ์ อารมณ์นี่สำคัณมาก เราไปเจริญพระกรรมฐานกันเพื่อรักษาอารมณ์

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
*มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา* "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ"

ทีนี้ใจอย่างเดียวเป็นเครื่องสำคัญที่จะทำให้เราลงนรก ขึ้นสวรรค์ เป็นพรหม ไปนิพพาน เกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าอารมณ์ใจของเราดีเสียอย่างเดียว ทุคติใดๆ ทั้งหมดย่อมไม่มีแก่เรา *ถ้าอารมณ์ใจเลวอย่างเดียว เราจะแสดงท่าทางกิริยาภายนอกดีอย่างไรก็ตาม เมื่อชีวิตอยู่ก็มีแต่ความรุ้มร้อน หาความสุขใจไม่ได้* ตายแล้วก็มีอบายภูมิเป็นที่ไป

ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานเป็นการเจริญเพื่อฝึกใจระงับใจ หรือว่าทำใจขับจากกิเลส ให้กิเลสพ้นไปจากอารมณ์ของใจ ทีนี้การที่กิเลสจะพ้นจากอารมณ์ของใจเราก็จะรู้ได้ เพราะกำลังจิตหรือกำลังกายกำลังวาจาของแต่ละบุคคล เมื่อแต่ละบุคคลจะมีกิเลสอะไร หนาแน่นเพียงไร แสดงออกทางกายกับทางวาจา บางรายจะทำนั่งหลับพริ้มเป็นคนเคร่งครัดมัธยัสภ์ ทำตัวเหมือนพระอรหันต์ แต่จิตใจของคนนั้นเลวทรามมันก็มีการแสดงออก เพราะการหลับตามันหลับไม่สนิท มันก็ยังมีการปกปิดอารมณ์ของความชั่ว คือตรงกันข้ามกับพระอรหันต์ พระอรหันต์จริงๆ น่ะไม่มีการปกปิด ท่านก็ปิดเหมือนกัน ปิดดีไม่ใช่ปิดชั่ว หมายความว่าความดีของท่านถ้าหากว่าท่านเห็นว่าเกินกว่าบุคคลอื่นบุคคลใดที่พึงจะรับไว้ได้ ท่านจะปกปิดความดีอันนั้นเข้าไว้

นี่เหมือนกับบุคคลคนหนึ่งที่ตำบลวังตะโก เรียกว่าครูปลั่ง ถามว่าครูปลั่งอยู่กับพระอรหันต์มาตั้งนานแล้ว คือ *หลวงพ่อเขียน สำนักบางขุนเณร* ถามว่ารู้บ้างไหมว่าหลวงพ่อเขียนเป็นพระอรหันต์ ความจริงหลวงพ่อเขียนน่ะเป็นพระที่แสดงออกทางกายเป็นปกติ ใครไปก็คุยสนุกสนาน เข้ากับบุคคลได้ทุกประเภท ไม่ถือเนื้อถือตัว ดูแล้วก็เหมือนว่าเป็นพระที่ไม่น่าเลื่อมใส แต่ทว่าเนื้อแท้จริงๆ ของหลวงพ่อเขียนเป็นพระอรหัตตผล

ทีนี้ครูปลั่งก็เลยบอกว่า ผมไม่มีเวลาจะพิจารณาท่าน แต่ครั้งหนึ่งเคยถามว่าหลวงพ่อขอรับ เวลานี้พระอรหันต์ มีบ้างไหมในประเทศหรือว่าในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอาในประเทศ ไทยเท่านั้นแหล่ะครับ มีพระอรหันต์ไหม หลวงพ่อเขียนท่านยิ้ม ท่านก็บอกว่า มึงจะชนพระตายอยู่แล้ว พูดเพียงเท่านั้น *นี่ถ้าเป็นพระอรหันต์จริงๆ ท่านไม่แสดงอาการปกปิด ไม่ทำถ้าว่าเป็นคนเคร่งครัด เพราะว่าท่านมีอารมณ์จิตสบาย* แต่สิ่งใดที่จะเป็นเวรเป็นภัยท่านไม่ทำ นี่อารมณ์ของพระอรหันต์เป็นอย่างนี้

~*~ บรรลุช้า-บรรลุเร็ว ~*~

เมื่อเราศึกษากันก็ศึกษาเพื่อความเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าจะถึงหรือไม่ถึงหรือไม่ถึงมันก็เรื่องของ *การปฏิบัติ* หรือ *บารมี* ถ้าขึ้นชื่อว่าทำความดีแล้วก็เป็นการก้าวเข้าไปสู่ความเป็นพระอรหันต์กันทุกคน เมื่อใครจะก้าวยาวก้าวสั้น เดินถูกทางผิดทางกันเท่านั้น ถ้าเดินเฉทางมันก็ช้าหน่อย ถ้าเดินตรงทางมันก็เร็วขึ้นหน่อย เดินตรงทางขี้เกียจก็ถึงช้า ถ้าเดินตรงทางขยันก็ถึงเร็ว แต่ว่าถ้าขยันรืบเดินไปถึงช้าเพราะเมื่อยล้าเดินไม่ไหว ในที่สุดกำลังกายทนไม่ไหวก็พับอยู่กลางทาง ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานเพื่อหวังผลก็ต้องระวังสูตร 2 ประการ ระวังอย่าให้เข้ามาถึง นั่นคือ

1. *อัตตกิลมถานุโยค* อย่าทรมานตนเกิน ถ้าทรมานตนเกินไปร่างกายทนไม่ไหว จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ประสาทจะไม่ดี ดีไม่ดีก็เสียสติสัมปชัญญะ อันนีิต้องระมัดระวัง

ประการที่ 2 *กามสุขัลลิกานุโยค* ย่อหย่อนเกินไป ถือนิมิต ถืออุปาทานเป็นสำคัญ ไม่ได้อะไรแต่ว่าคิดว่าได้ นี่เสร็จ

2 ประการนี้ไม่มีผล ต้องเดิมตามสาย *มัชฌิมาปฏิปทา* คือเดินสายกลางๆ เอาแค่พอสบาย พอชักเริ่มไม่สบายต้องทนหนักก็เลิก ถ้าขืนต้องทนเกินไปก็ไร้ผล ถ้าหากว่าทำเข้าถึงอันดับทน ก็แสดงว่าสมาธิจิตหรืออารมณ์ของ เราใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าอารมณ์เป็นฌานจริงๆ เข้าถึงสุขจริงๆ จะนั่งสักกี่ชั่วโมงก็ได้ มันไม่ต้องทน มันสบาย แต่ทว่าการสบายนั้นต้องระวัง ถ้าเป็นการฝืนร่างกายเกินไปทรมานเก็นไปก็ต้องเลิก เอาแค่พอดี ต้องหว่งร่างกายให้มากเหมือนกัน ถ้าหากว่าร่างกายของเราทุพพลภาพไป จิตใจไม่สบาย การก้าวหน้าทางเจริญพระกรรมฐานก็ไม่มีผล. นี่พูดกันถึงผลให้ฟัง

~*~ จริต 6 ~*~

วันนี้ก็จะพูดถึงจริต 6 การเจริญพระกรรมฐานถ้าจะให้ดี นี่เราพูดถึงฌานโลกีย์จบมาแล้วโดยย่อ นี่ฌานโลกีย์ปกติหรือฌานโลกุตตระก็ตาม หมายความว่าเราจะฝึกตนแค่ฌานโลกีย์หรือว่าเป็นพระอริยเจ้าก็เถอะ จะต้องรู้อารมณ์ของจิตที่เรียกกันว่าจริต อันนี้มีความสำคัญมาก *ถ้าเราไม่รู้อารมณ์ของจิตตัวนี้แล้ว ก็ใช้อารมณ์ไม่ถูกอารมณ์ของจิต คืออารมณ์กรรมฐานที่จะใช้ไม่ถูกอารมณ์ของจิต การปฏิบัติมันก็ไม่มีผล* ตอบได้เลยว่าไม่มีผล

ทั้งนี้เพราะอะไร สมมติว่าถ้าไฟมันไหม้มาที่ผ้าของเรา แทนที่เราจะเอานำ้มาดับ เราเอานำ้มันมาราดมันก็ลุกใหญ่ หากว่าเอานำ้มาดับมันก็ดับ นี่ข้อนี้มีอุปมาฉันใด อารมณ์จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันข้องอยู่ในจริตอะไรถ้าใช้กรรมฐานไม่ถูกแบบฉบับเข้าไปหักล้างไม่มีผลเลย ในจริตของเรามี 6 อย่าง

1. *ราคะจริต* รักสวยรักงาม
2. *โทสะจริต* ชอบโมโหโทโส
3. *วิตกจริต* ชอบนึกคิดไม่หยุดไม่หย่อน
4. *โมหะจริต* เจ้านี่ตัดสินใจไม่ได้ โง่
5. *สัทธาจริต* เชื่อง่าย
6. *พุทธจริต* เป็นคนฉลาด

~*~ ราคะจริต ~*~

นี่จริตของเรามีอยู่ 6 อย่างนี่มันฝังอยู่ในจิตของแต่ละบุคคลทั้งหมด ไม่ใช่ว่าใครมีจริตโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อะไรมันหนักเท่านั้นมันหนักไปในสายไหน ทีนี้เราก็ต้องเตรียมการ เรารู้แล้วว่าอารมณ์ของจิตหรือว่าจริตมันเข้ามาสิงอารมณ์ของใจทั้ง 6 อย่างแล้วว่าแต่ละอย่างมันจะแสดงออกแต่ละคราว คือไม่ออกพร้อมๆ กัน อย่างราคะจริต ความรักสวยรักงามเกิดขึ้น อันนี้พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญ *อสุภกรรมฐาน* แล้ว *กายคตานุสสติกรรมฐาน* อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เราชอบเข้าเป็นเครื่องหักล้าง อันนี้อารมณ์นี่มันเกิดเวลาไหนบ้าง เราคิดว่าเราเป็นคนรักสวยรักงาม เราจะเจริญแต่เฉพาะอสุภกรรมฐาน 10 และกายคตานุสสติ 1 รวมเป็น 11 ด้วยกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็หักล้างตลอดกาลตลอดสมัยมันก็ไม่ได้เหมือนกัน

~*~ โทสะจริต ~*~

เพราะวันนี้เราอาจจะรักสวยรักงาม หรือว่าวันพรุ้งนี้อาจจะโกรธใครขึ้นมาเสียก็ได้ ไอ้วตัวรักมีอยู่ ไอ้ตัวโกรธมันก็มี เมื่อตอนเช้าเรารักตอนบ่ายอาจจะโกรธก็ได้ นี่ต้องใช้กรรมฐานให้ถูกกับอารมณ์เฉพาะกาลจริงๆ อันนี้ต้องศึกษาให้เข้าใจ ถ้าอารมณ์รักสวยรักงามเกิดขึ้นเราก็เจริญอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติกรรมฐาน เพื่อหักล้างความสวยสดงดงามหา ความจริงให้ปรากฎ อันนี้โทสะจริตเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าให้ใช้ *พรหมวิหาร 4 มี เมตตา* เป็นต้น หรือว่านำ *กสิณ 4 หรือ กสิณสีเขียว สีขาว สีแดง สีเหลือง* อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าหักล้าง นี่ต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่เข้าใจไปดูคู่มือพระกรรมฐาน ดูให้ชัด ดูให้จำได้ ดูให้เข้าใจ *อารมณ์อย่างไหนเกิดขึ้นใช้กรรมฐานอย่างนั้นเข้าหักล้างทันที ให้มันทันท่วงทีกัน ไม่ใช่ว่าโกรธเวลาเช้าแล้วก็มาเจริญเมตตาเวลาเย็น ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าโกรธขึ้นมาแล้วรู้สึกตัวขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! มันไม่ดีนี่* ไอ้ความโกรธเป็นเหตุของอบายภูมิ ความรักสวยรักงามเป็นเหตุของอบายภูมิ ไม่ได้ประโยชน์ ต้องหักล้างมันด้วยกรรมฐานที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้สอนไว

~*~ วิตกกับโมหะจริต ~*~

ทีนี้มาวิตกจริตกับโมหะจริต 2 ตัว วิตกน่ะตัวนึก ตัดสินใจไม่ตกลง แล้วโมหะจริตก็หลง โมหะนี่เขาแปลว่าหลง คิดว่าไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู อะไรๆ ก็ของกูไปหมด จะเศษกระดาษเล็กเศษกระดาษน้อยก็ของกู อะไรก็ช่างเถิด บ้านช่องเรือนโรงร่างกาย เราคิดอยู่เสมอว่าเราจะไม่ตายจากมัน แล้วมันก็จะไม่ไปจากเรา อันนี้ท่านกล่าวว่าเป็นโมหะจริตและวิตกจริต ถ้าอารมณ์จิตเกิดขึ้นแบบนี้แล้วท่านให้ใช้ *อานาปานุสสติกรรมฐาน* อย่างเดียวเป็นเคื่องหักล้าง *โดยกำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องคิด ไม่ต้องภาวนา หรือไม่ต้องพิจารณา* ถ้าไปภาวนาหรือพิจารณาเข้า ไอ้ตัวยุ่งๆ ในใจมันมีอยู่แล้ว วิตกนี่มันก็ยุ่ง โมหะมันก็ยุ่ง มันคิดไม่หยุดไม่หย่อน ถ้าเราไปภาวนาเข้า หรือพิจารณาเข้าก็เลยช่วยกันคิดเข้าไปใหญ่ ส่งเสริมกำลังใจกันเข้าไป ทีนี้ท่านเลยให้ตัดเสียด้วยการพิจารณาลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว โดยไม่ต้องภาวนาใดๆ ทั้งหมด

~*~ สัทธาจริต ~*~

นี่มาถึงอีกจริตหนึ่งคือจริตที่ 5 สัทธาจริต สัทธาจริตนี่บางครั้งบางทีเราก็เป็นคนเชื่อยาก บางทีเราก็กลายเป็นคนเชื่อง่ายนี่มันเป็นอย่างนี้ บางขณะมันไม่เหมือนกัน อารมณ์ของเราบางคราวใครเขาพูดอะไรเข้ามาทั้งๆ ที่มันไม่เป็นความจริง แต่เหตุผลพอสมควร ลืมใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาเชื่อเสียแล้ว ถ้าอารมณ์เชื่อมันเกิดบ่อยๆ ละก็ พระพุทธเจ้าท่านให้ใช้แบบนี้ ให้เจริญ *อนุสสติ 6 คือ พุทธานุสสติ* นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ อย่างที่เราภาวนาว่า *พุทโธ* หรือ *อรหัง ธัมมานุสสติ* นึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์ *สังฆานุสสติ* นึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์ *จาคานุสสติ* นึกถึงทานการบริจาคเป็นอารมณ์ *สีลานุสสติ* นึกถึงศลีเป็นอารมณ์ แล้วก็ *เทวตานุสสติ* นึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์

นี่ระวังให้ดีนะ พระอย่าคิดว่าตัวเองดีกว่าเทวดา พระที่บวชเข้ามานี่ไม่แน่หรอก บางทีก็มีความดีเสมอสัตว์นรกก็มี ถ้าเราทำตัวไม่ดีมันก็มีความดี เสมอสัตว์นรก อย่าไปเทียบกับเทวดาเขา เคยมีคนบอกว่า พระเคยพูดว่าเรานี่ดี บวชเป็นพระแล้วเทวดาก็ไหว้ อันนี้ไม่จริง เทวดานี่เขาไม่โง่เหมือนมนุษย์ มนุษย์พอเห็นพระโกนหัวห่มผ้าเหลืองแล้วก็ยกมือไหว้ เข้าใจว่าดี แต่เนื้อแท้จริงของคนที่โกนหัวห่มผ้าเหลืองอาจจะเลวกว่าสัตว์นรกธรรมดาก็ได้

แต่นี้เทวดาเขารู้อารมณ์ของใจ ถ้าหากว่าจิตใจของเราเลว เทวดาเขาไม่ไหว้ พรหมเขาไม่ไหว้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีการเจริญนึกถึงความดีของเทวดาเพื่อจะทำจิตของตนให้เกาะเข้าไปถึงเทวดา นี่คนที่มีสัทธาจริตความเชื่อคิดว่าที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนี่จริง เราเชื่อจริงตามพระธรรมคำสั่งสอน ท่านให้ใช้อนุสสติทั้ง 6 ประการตามที่กล่าวมา เจริญตามชอบใจ ชอบใจอย่างไหนใช้ได้ทั้งนั้นใน 6 อย่าง

~*~ พุทธจริต ~*~

ทีนี้มาพุทธจริต คนนี้ฉลาด นักเลง พุทธจริตนี่มีความฉลาดมาก ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตามมีความเข้าใจง่าย คนฉลาดประเภทนี้พระพุทธเจ้าให้เจริญ *อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน 4* อาหาเรปฏิกูลสัญญาก็พิจารณาอาหารว่าเป็นของสกปรก พิจารณาร่างกายมาจากธาตุ 4 แล้วก็อีก 2 อย่าง นึกไม่ออกมันไปเป็นไข้เสียวันนี้ เป็นอันว่าจริตทั้ง 6 ประการ นักเจริญพระกรรมฐานทุกคนต้องสร้างความเข้าใจ ดูจำให้ได้แล้วก็ศึกษากรรมฐานกองนั้นๆ ที่จะพึงใช้กับอารมณ์ของจิตให้เข้าใจ ดูให้คล่อง ฝึกให้คล่อง ใช้อารมณ์ให้คล่อง

ถ้าบังเอิญอารมณ์จิตของเราเกิดขึ้นในทัศนะของจริตไหน จับกรรมฐานหมวดนั้นเข้ามาใช้ทันทีไม่ต้องรอเวลา มันเกิดรักสวยรักงามขึ้นมา เวลารักมันก็เผลอไปพักหนึ่ง นี่พอรู้ตัวว่านี่จิตเราเลวเสียแล้วไปรักสวยรักงาม ไอ้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่คงทนถาวร ความสวยความงามมันไม่คงที่ เดี๋ยวมันก็สลายตัวใช้ไม่ได้ ทำไมเราจึงจะหักล้างมันได้ ต้องใช้ *อสุภกรรมฐาน* เข้ามาพิจารณากายหักล้างทันที นี่ต้องใช้ให้ทันท่วงที แล้วเวลาว่างก็คิดว่าอารมณ์อย่างนี้มันจะเกิดอีกใช้อารมณ์แบบนี้หักล้างให้สิ้นไป

ทีนี้ถ้าโทสะมันเกิดก็ใช้ *เมตตา* บารมี *พรหมวิหาร 4* หรือ *กสิณ 10* ตามที่กล่าวมา ถ้ามันเกิดบ่อยๆ ก็ใช้พรหมวิหาร 4 หรือ กสิณ 10 หักล้างให้ตัดเด็ดขาดไปเลย นี่ความคิดไม่ตกลง หลงโน่นหลงนี่ ปรากฎว่ามันเกิดบ่อยๆ ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู มันหลงในทรัพย์สิน หลงในทรัพย์สินในร่างกายและชีวิตก็ใช้ *อานาปานุสสติ* ให้เข้าถึงฌาน 4 คุมฌาน 4 หรือฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ตลอดเวลาไม่พลาดตลอดวัน ไม่ช้าอารมณ์นี้มันก็สลายไป

ถ้าความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยหรือมีอารมณ์เชื่อง่ายเกิดขึ้น เจริญ *อนุสสติทั้ง 6 ประการ* มี *พุทธานุสสติ* เป็นต้น เป็นปกติ ความดีจะเข้าถึงอย่างรวดเร็ว พวกสัทธาจริตนี่เป็นพระอรหันต์ง่าย ถ้าเดินทางถูกง่ายจริงๆ เพราะท่านเชื่ออยู่แล้วไม่ยาก นี่หากว่าพุทธจริตความฉลาดมันเกิด ขึ้นก็ไปดู *อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน 4* แล้วอะไรอีก 2 อย่าง จำไม่ได้ นึกไม่ออก ความจริงมันจำได้ เพราะว่าไข้มันขึ้น ใช้แบบนั้นเข้าหักล้างทันทีให้มันสิ้นไป

*ถ้าเรารู้จักจริตของเรา พิจารณาจริตของเรา รู้จักกรรมฐานที่จะพึงใช้ให้ถูกต้อง แล้วใช้ได้ทันท่วงที เมื่ออารมณ์นั้นเกิดแล้วก็คลายตัว พอรู้สึกตัวขึ้นมาใช้กรรมฐานประเภทนั้นหักล้างเรื่อยไป จนกว่าอารมณ์นั้นจะสิ้นไป* แต่ถ้าอารมณ์อื่นพลอยเกิดขึ้นมาอีกก็ใช้กรรมฐานที่ถูกต้องตามพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนหักล้างให้มันสิ้นไปอีกเหมือนกัน อย่างนี้ไม่ช้าไม่นานหรอก อย่างเลวที่สุด 7 ปีเราก็พบพระนิพพาน นี่หากว่าทำอย่างถูกต้องปานกลางก็ไม่เกิน 3 ปี ก็ไม่เกิน 7 เดือนไม่ถึง 3 ปี ปานกลางไม่เกิน 7 เดือนเราก็พบพระนิพพาน ถ้าหากปฏิบัติอย่างเข้มแข็งระมัดระวังอารมณ์อยู่เสมอ ไม่เกิน 7 วัน พบพระนิพพาน

~*~ ฝึกซ้อม ~*~

นี่การทำถูกน่ะมันเป็นของไม่ยาก แล้วก็พวกเรานักปฏิบัตินี่เอาทุกคน จริตทั้ง 6 ประการนี่เราเคยนึกบ้างรึเปล่า แล้วก็กรรมฐานจะฟอกจริตทั้ง 6 ประการมีอะไรบ้าง มันคล่องแคล่วแล้วรึยัง ดูจำได้ไหม ฝึกเตรียมพร้อมอยู่เสมอๆ ว่า เขาพิจารณาเขาทำกันอย่างไร เราฝึกซ้อมไว้บ้างรึเปล่า ถ้าเราฝึกเราซ้อมไว้เสมอๆ ทุกกองที่จำจะต้องใช้ ไม่ใช่ว่าเกิดมาจึงทำ ยามว่างซ้อมไว้ ตั้งอารมณ์ให้อยู่เป็นสุข ทรงอารมณ์ไว้ให้ได้เสมอ เราจะใช้งานเมื่อไรใช้ได้ทันทีทันใด คือว่ากรรมฐานทุกกองคือ 30 กองด้วยกัน เฉพาะจริต 6 เราต้องคล่อง คล่องเช่นเดียวกับเรานึกพูดอะไร ภาษาไทย เราพูดได้ทันที ถ้ามีอารมณ์คล่องและจำได้อย่างนี้ มีอารมณ์คล่องแบบนี้อย่างพูดภาษาไทยที่เราเคยพูด อย่างนี้อย่างเลว 7 ปีพบพระนิพพาน อย่างกลางๆ 7 เดือนพบพระนิพพาน อย่างเร็วที่สุดไม่เกิน 7 วันพบพระนิพพาน

นี่การเจริญพระกรรมฐานไม่ใช่เจริญส่งเดช เราเจริญเพื่อหวังผล แล้วการเจริญพระกรรมฐานต้องมีหลักวิชา มีการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติให้ถูกต้องมันจึงจะมีผล ถ้ามานั่งกันไปหลับตาฟังกันไปหลับตากันมา แต่ละวันเรียกว่าถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง หรือว่าดีก็ชามไม่ดีก็ชาม แบบนี้มันก็ได้เหมือนกัน แต่มันได้อย่างดีที่สุดแค่กามาวจรสวรรค์ จะเกิดประโยชน์อะไร อันนี้ *เราทำเพื่อหักล้างความทุกข์เพื่อหวังความสุขที่ไม่มีความทุกข์ต่อไปคือพระนิพพาน* ฉะนั้นขอทุกท่านจงพากันศึกษาจริ ต 6 ให้เข้าใจชัด แล้วกรรมฐานทั้ง 30 กองเป็นเครื่องหักล้างจริต 6 ให้เข้าใจให้ชัด ฝึกให้คล่องทุกกอง ไม่ใช่แต่เฉพาะกองใดกองหนึ่ง แล้วเวลาอารมณ์อย่างไหนมันเกิดขึ้นมากรรมฐานอย่างนั้นหักล้างทันที อย่างนี้จึงจะมีผลตามที่พระพุทธเจ้าต้องการ

เอาละต่อจากนี้ไปขอบรรดาพุทธบริษัททุกท่าน ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา.

~()~โดย...พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระมหาวีระ ถาวโร~()~

จากหนังสือธรรมปฏิบัติ เล่ม 27 หน้า 70-82

วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ. เมือง จ. อุทัยธานี